Oastler, Richard (1789-1861)

นายริชาร์ด โอสต์เลอร์ (๒๓๓๒-๒๔๐๔)

     ริชาร์ด โอสต์เลอร์ เป็นนักปฏิรูปสังคมและนักปฏิรูปโรงงานอุตสาหกรรมชาวอังกฤษในต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ เขายึดแนวมนุษยธรรมแบบทอรี (Tory) ที่เห็นว่าผู้มีรายได้สูงในสังคมมีพันธกิจที่จะต้องดูแลสวัสดิภาพของผู้ที่อ่อนแอกว่าและโดยเฉพาะผู้ที่ด้อยโอกาสในทางเศรษฐกิจ โอสต์เลอร์ต่อต้านการมีทาสการใช้แรงงานเด็กในโรงงาน และเห็นว่าคนงานในโรงงานควรมีชั่วโมงทำงานไม่เกิน ๑๐ ชั่วโมงต่อวัน เขามีส่วนสำคัญในการผลักดันการออกพระราชบัญญัติ ๑๐ ชั่วโมง ค.ศ. ๑๘๔๗ (Ten-Hour Act of 1847)
     โอสต์เลอร์เกิดเมื่อวันที่ ๒๐ ธันวาคม ค.ศ. ๑๗๘๙ ที่เมืองลีดส์ (Leeds) ทางตะวันตกของมณฑลยอร์กเชียร์ (Yorkshire) เป็นบุตรคนหนึ่งในจำนวน ๘ คนของรอเบิร์ต โอสต์เลอร์ (Robert Oastler) พ่อค้าผ้าลินินจากเมืองเทิสก์ (Thirsk) ที่ย้ายมาอยู่ที่เมืองลีดส์ เขาเข้าศึกษาที่โรงเรียนประจำของนิกายโมเรเวียน (Moravian) ระหว่าง ค.ศ. ๑๗๙๘-๑๘๑๐ เดิมโอสต์เลอร์ตั้งใจจะเป็นนักกฎหมายแต่ต้องเลิกล้มความคิดเพราะมีปัญหาด้านสายตา เมื่อบิดาสิ้นชีวิตใน ค.ศ. ๑๘๒๐ ทอมัสทอร์นฮิลล์ (Thomas Thornhill) เจ้าของที่ดินรายใหญ่ในเมืองนอร์ฟอล์ก (Norfolk) ซึ่งว่าจ้างบิดาของเขาดูแล ไร่เกษตรฟิกซ์บี (Fixby Estate) ใกล้เมืองฮาลิแฟกซ์ (Halifax) และเมืองฮัดเดอร์สฟีลด์ (Huddersfield) จึงให้โอสต์เลอร์ดำรงตำแหน่งผู้จัดการไร่ ซึ่งดูแลผู้เช่าที่เกือบ ๑,๐๐๐ คนสืบต่อจากบิดา โดยได้ค่าจ้าง ๓๐๐ ปอนด์ต่อปี โอสต์เลอร์จึงย้ายไปจากเมืองลีดส์ซึ่งเป็นเมืองอุตสาหกรรม
     ใน ค.ศ. ๑๘๓๐ เขาได้พบกับจอห์นวูด (John Wood) พ่อค้าผลิตผ้าขนสัตว์ในเมืองแบรดฟอร์ด (Bradford) ซึ่งไม่สบายใจที่จำเป็นต้องจ้างเด็กทำงานในโรงงานของเขา ทั้งคู่ได้พูดคุยกันยาวนานจนตกลงร่วมมือกันว่าจะรณรงค์ให้มีการออกกฎหมายแรงงานปกป้องเด็กจากการถูกเอาเปรียบในโรงงาน และจากการที่ต้องทนทุกข์กับระบบโรงงาน (factory system) ทั้งที่วัยยังไม่พร้อมหรือไม่เหมาะสมที่จะเผชิญกับความยากลำบากในการช่วยหารายได้เข้าครอบครัว โอสต์เลอร์ต่างจากนักเคลื่อนไหวปฏิรูปสังคมทั่วไปเพราะมีแนวคิดแบบสมาชิกพรรคอนุรักษนิยมหรือพรรคทอรี (Conservative Party; Tory Party)* ที่เชิดชูระบอบกษัตริย์สนับสนุนนิกายแองกลิคัน (Anglican) ต่อต้านนิกายโรมันคาทอลิก การให้สิทธิเลือกตั้งแก่ประชาชนทั่วไปและการจัดตั้งสหภาพแรงงาน เขาพอใจที่อังกฤษมีโครงสร้างสังคมแบบชนชั้น แต่เชื่อว่าผู้ปกครอง คนที่มั่งคั่งหรือผู้มีอภิสิทธิ์ต่าง ๆ พึงคุ้มครองและเอื้ออาทรต่อผู้ที่ด้อยกว่าดุจบิดาต่อบุตรตามแนวทางของทอรี (Tory Paternalism) ส่วนฝ่ายหลังก็พึงตอบแทนด้วยการให้ความเคารพและอ่อนน้อมถ่อมตน
     ตั้งแต่ ค.ศ. ๑๘๓๐ โอสต์เลอร์วิพากษ์วิจารณ์เศรษฐกิจแบบเสรี (laissez-faire) และลัทธิอรรถประโยชน์นิยม (utilitarianism) ซึ่งเป็นเศรษฐศาสตร์การเมืองแนวใหม่ที่เน้นประโยชน์สุขของคนจำนวนมากว่าเป็นสิ่งถูกต้อง แม้จะก่อผลเสียต่อคนจำนวนหนึ่งในสังคม โอสต์เลอร์เห็นว่าการดังกล่าวจะทำให้ผู้ที่อ่อนแอยิ่งอ่อนแอลงหรือเสียเปรียบมากขึ้น เขาโจมตีการมีทาสการใช้แรงงานเด็กในโรงงานอุตสาหกรรม และรณรงค์อย่างแข็งขันให้ชั่วโมงทำงานในโรงงานไม่ควรเกิน ๑๐ ชั่วโมงต่อวัน อย่างไรก็ดี โอสต์เลอร์ไม่ได้ต่อต้านระบบอุตสาหกรรม เขาเพียงต้องการบอกว่าระบบโรงงานที่เป็นอยู่ขัดแย้งกับสิทธิทางธรรมชาติที่จะดำรงชีพอย่างมีความสุข นอกจากนี้ โอสต์เลอร์ยังต่อต้านพระราชบัญญัติแก้ไขกฎหมายช่วยเหลือคนยากจน ค.ศ. ๑๘๓๔ หรือกฎหมายช่วยเหลือคนยากจนฉบับใหม่ (Poor Law Amendment Act of 1834; New Poor Law) เพราะเห็นว่าจะทำให้แรงงานรับจ้างที่ยากไร้ถูกบังคับให้ทำงานเพื่อค่าแรงที่ต่ำเกินไปเพราะไม่อาจพึ่งพาความช่วยเหลือของรัฐได้จากการที่รัฐออกมาตรการใหม่ที่พยายามผลักดันให้ประชาชนยืนหยัดด้วยตนเองมากที่สุด โอสต์เลอร์เห็นว่าควรต้องปรับปรุงกฎหมายใหม่ที่รุนแรงเกินไปวิธีการรณรงค์ของเขาวิธีหนึ่งคือ การเขียนบทความส่งไปยังหนังสือพิมพ์เช่นการเขียนบทความเรื่อง "Yorkshire Slavery" ส่งไปหนังสือพิมพ์ Leeds Mercury คัดค้านการว่าจ้างเด็กทำงานในโรงงานทอผ้า สมาชิกสภาสามัญหัวรุนแรงผู้หนึ่งชื่อ จอห์น ฮอบเฮาส์ (John Hobhouse) ได้อ่านบทความของเขาจึงได้เสนอร่างกฎหมายจำกัดแรงงานเด็กในเวลาต่อมา โดยเสนอว่าห้ามเด็กที่อายุต่ำกว่า ๙ ปีทำงานในโรงงาน อายุ ระหว่าง ๙-๑๘ ปีทำงานได้ไม่เกิน ๑๒ ชั่วโมงต่อวันหรือไม่เกิน ๖๖ ชั่วโมงต่อสัปดาห์ อายุที่ต่ำกว่า ๑๘ ปีทั้งหมดไม่ควรทำงานกลางคืน
     เมื่อมีการตั้งคณะกรรมการรณรงค์ลดชั่วโมงทำงาน (Short Time Committee) ในหมู่ผู้ใช้แรงงานของเมืองลีดส์และเมืองฮัดเดอร์สฟีลด์ขึ้น เพื่อผลักดันให้รัฐสภาผ่านร่างกฎหมายดังกล่าว โอสต์เลอร์ก็ได้ช่วยรณรงค์ด้วยการจัดตั้งคณะกรรมการลักษณะเช่นนี้ขึ้นจนในเวลาต่อมามีอยู่ในเมืองทอผ้าใหญ่ ๆ ทุกแห่งแต่ในที่สุดฮอบเฮาส์กลับมีท่าทีอ่อนลงในสภาสามัญและยินยอมให้มีการแก้ไขร่างกฎหมายของเขา ด้วยเหตุนี้เนื้อความในพระราชบัญญัติโรงงาน ค.ศ. ๑๘๓๓ (FactoryAct of 1833) ซึ่งถือกันว่าเป็นการออกกฎหมายโรงงานครั้งสำคัญระบุว่าเด็กอายุต่ำกว่า ๙ ปีห้ามทำงานในโรงงานทอผ้า อายุระหว่าง ๙-๑๓ ปีทำงานได้ไม่เกิน ๔๘ ชั่วโมงต่อสัปดาห์และต่ำกว่า ๑๘ ปีไม่ให้ทำเกิน ๖๘ ชั่วโมงต่อสัปดาห์ อีกทั้งห้ามทำงานผลัดกลางคืน แต่การที่กฎหมายนี้ใช้บังคับเฉพาะกับโรงงานทอผ้าฝ้ายและไม่มีกลไกในการบังคับใช้กฎหมาย คณะกรรมการรณรงค์เพื่อลดชั่วโมงทำงานจึงไม่พอใจและตกลงที่จะรวมพลังต่อสู้ต่อไป โอสต์เลอร์ก็ได้เป็นผู้นำการเคลื่อนไหวเรื่องชั่วโมงทำงาน ๑๐ ชั่วโมงภายนอกสภา ใน ค.ศ. ๑๘๓๖ เขาสนับสนุนให้ผู้ใช้แรงงานใช้วิธีการนัดหยุดงานและให้เด็ก ๆ ทำลายเครื่องจักรในโรงงานเพื่อเป็นการกดดันให้รัฐบาลแก้ไขกฎหมายโรงงานและกฎหมายช่วยเหลือคนยากจนฉบับใหม่
     การเคลื่อนไหวเพื่อการปฏิรูปสังคมที่โอสต์เลอร์มีส่วนร่วมด้วยนั้น นอกจากจะทำให้มีการออกพระราชบัญญัติโรงงาน ค.ศ. ๑๘๓๓ แล้ว ในปีเดียวกันสภายังผ่านกฎหมายอีกฉบับซึ่งปลดปล่อยทาสผิวดำประมาณ ๗๐๐,๐๐๐ คน ซึ่งส่วนใหญ่ทำงานอยู่ในหมู่เกาะเวสต์อินดีส (West Indies) ให้เป็นอิสระด้วยการที่รัฐบาลจ่าย เงินชดเชยให้แก่บรรดาเจ้าของทาสเดิมจำนวน ๒๐ ล้านปอนด์ด้วย แต่ความพยายามขัดขวางการบังคับใช้กฎหมายเพื่อช่วยเหลือคนยากจนฉบับใหม่ซึ่งเริ่มใช้บังคับใน ค.ศ. ๑๘๓๗ นั้นไม่เป็นผล การที่โอสต์เลอรปฏิเสธที่จะให้คณะกรรมาธิการที่แต่งตั้งตามกฎหมายดังกล่าว (Poor Law Commissioners) นำกฎเกณฑ์ใหม่มาบังคับใช้ในเขตมณฑลที่เขาทำงาน ทำให้ทอร์นฮิลล์ไล่เขาออกจากงานในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๘๓๘ และยังฟ้องร้องโอสต์เลอร์ด้วยข้อหาที่มีหนี้สินค้างชำระอยู่ ๒,๐๐๐ ปอนด์ เมื่อไม่สามารถหาเงินมาชำระหนี้ได้โอสต์เลอร์จึงถูกตัดสินให้ถูกคุมขังที่เรือนจำฟลีต (Fleet Prison) ตั้งแต่เดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๘๔๐ ระหว่างที่อยู่ในคุกนี้ โอสต์เลอร์ก็ได้เขียนบทความเรียกร้องให้มีการปรับปรุงสภาพสังคมและระบบโรงงานซึ่งเผยแพร่ทุกสัปดาห์ ต่อมาได้มีการรวบรวมพิมพ์ในชื่อ Fleet Papers รวมทั้งหมด ๓ เล่ม ในช่วงนั้น บรรดาผู้ใช้แรงงานที่สนับสนุนเขาก็ตั้งคณะกรรมการโอสต์เลอร์ (Oastler Committee) ขึ้นหลายชุดซึ่งร่วมกันรณรงค์หาเงินเพื่อชำระหนี้สินของโอสต์เลอร์ จึงมีการจัดงานออกร้านเรียกว่า Oastler Festival เป็นระยะ ๆ และจัดตั้งกองทุนเพื่ออิสรภาพของโอสต์เลอร์ (Oastler Liberation Fund) ขึ้นจนสามารถหาเงินได้ถึง ๒,๕๐๐ ปอนด์โอสต์เลอร์จึงได้รับการปล่อยตัวในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๘๔๔ รวมเวลาอยู่ในคุก ๓ ปีเศษ
     เมื่อเป็นอิสระแล้ว โอสต์เลอร์ก็ดำเนินการเรียกร้องให้รัฐบาลลดชั่วโมงทำงานในโรงงานให้เหลือ ๑๐ ชั่วโมงอีก โดยประสานการทำงานกับลอร์ดแอนโทนีแอชลีย์ คูเปอร์ [Anthony Ashley Cooper ต่อมาคือเอิร์ลแชฟส์บิวรีที่ ๗ (7th Earl of Shaftesbury)*] และไมเคิล ทอมัส แซดเลอร์ (Michael Thomas Sadler) สมาชิกสภาสามัญ หลังจากสภาปฏิเสธที่จะออกกฎหมายจำกัดชั่วโมงทำงานมาหลายครั้งในที่สุดสภาได้ออกพระราชบัญญัติ ๑๐ ชั่วโมงใน ค.ศ. ๑๘๔๗ ซึ่งบางคน เรียกว่า พระราชบัญญัติแอชลีย์ (Ashley’s Act) กฎหมายฉบับนี้ให้สตรีและเด็กอายุระหว่าง ๑๓-๑๘ ปีทำงานได้ไม่เกิน ๑๐ ชั่วโมงต่อวัน หรือ ๕๘ ชั่วโมงต่อสัปดาห์ อย่างไรก็ดี มาตรการนี้ใช้เฉพาะกับอุตสาหกรรมทอผ้าเท่านั้น เมื่อโอสต์เลอร์เสียชีวิตไปแล้วถึง ๖ ปี ข้อบังคับเรื่อง ๑๐ ชั่วโมงต่อวันถึงขยายขอบเขตไปครอบคลุมอุตสาหกรรมอื่น ๆ
     ในบั้นปลายชีวิต โอสต์เลอร์เป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ชื่อ The Home ระหว่าง ค.ศ. ๑๘๕๑-๑๘๕๕ หลังจากนั้นเรื่องราวของเขาก็ไม่ค่อยเป็นที่รับรู้นัก ในด้านชีวิตส่วนตัว เขาสมรสกับแมรี ทาทัม (Mary Tatham) และมีบุตรด้วยกัน ๒ คนคือซาราห์ (Sarah) และรอเบิร์ต (Robert) ซึ่งเสียชีวิตในวัยเยาว์ทั้งคู่ และเมื่อแมรีสิ้นชีวิตลงใน ค.ศ. ๑๘๔๕ หลังจากโอสต์เลอร์พ้นคุก โอสต์เลอร์ก็ย้ายไปพำนักที่เซาท์ฮิลล์คอตเทจ (South Hill Cottage) เมืองกิลด์ฟอร์ด (Guildford) ในมณฑลเซอร์เรย์ (Surrey) ริชาร์ดโอสต์เลอร์มีฉายาว่า "ผู้ยิ่งใหญ่แห่งโรงงาน" (Factory King) ซึ่งแรกเริ่มเป็นฉายาที่ฝ่ายต่อต้านโอสต์เลอร์ใช้เรียกเขา ต่อมาโอสต์เลอร์นำไปใช้และกลายเป็นที่รู้จักไปทั่วในมณฑลยอร์กเชียร์และแลงคาเชียร์ซึ่งเป็นเขต อุตสาหกรรมทอผ้าแหล่งใหญ่
     ริชาร์ด โอสต์เลอร์ถึงแก่กรรมในวันที่ ๒๒ สิงหาคม ค.ศ. ๑๘๖๑ ที่แฮร์โรเกต (Harrogate) มณฑลยอร์กเชียร์ ขณะอายุ ๗๒ ปี ร่างของเขาฝังอยู่ที่สุสานของโบสถ์เคิร์กสตอลล์ (Kirkstall) ต่อมา มีการสร้างรูปปั้นทำด้วยบรอนซ์ในท่ายืนของโอสต์เลอร์ โดยมีเด็กชายหญิง ๒ คนยืนอยู่ใกล้ ๆ ที่เมืองแบรดฟอร์ดลอร์ดแชฟส์บิวรีเป็นผู้มาทำพิธีเปิดรูปปั้นนี้ที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกถึงเขาใน ค.ศ. ๑๘๖๙.



คำตั้ง
Oastler, Richard
คำเทียบ
นายริชาร์ด โอสต์เลอร์
คำสำคัญ
- แซดเลอร์, ไมเคิล ทอมัส
- ทาทัม, แมรี
- เซอร์เรย์, มณฑล
- แชฟส์บิวรีที่ ๗ , เอิร์ล
- นิกายโมเรเวียน
- เทิสก์, เมือง
- ทอร์นฮิลล์, ทอมัส
- กิลด์ฟอร์ด, เมือง
- คณะกรรมการโอสต์เลอร์
- คูเปอร์, ลอร์ดแอนโทนี แอชลีย์
- นอร์ฟอล์ก, เมือง
- พรรคอนุรักษนิยม
- พรรคทอรี
- นิกายแองกลิคัน
- โอสต์เลอร์, ริชาร์ด
- วูด, จอห์น
- ยอร์กเชียร์, มณฑล
- ระบบโรงงาน
- พระราชบัญญัติ ๑๐ ชั่วโมง ค.ศ. ๑๘๔๗
- พระราชบัญญัติแก้ไขกฎหมายช่วยเหลือคนยากจน ค.ศ. ๑๘๓๔
- กฎหมายช่วยเหลือคนยากจนฉบับใหม่
- ฮัดเดอร์สฟีลด์ , เมือง
- ฮาลิแฟกซ์, เมือง
- ลัทธิอรรถประโยชน์นิยม
- พระราชบัญญัติโรงงาน ค.ศ. ๑๘๓๓
- เวสต์อินดีส, หมู่เกาะ
- กองทุนเพื่ออิสรภาพของโอสต์เลอร์
- เศรษฐกิจแบบเสรี
- ฮอบเฮาส์, จอห์น
- พระราชบัญญัติแอชลีย์
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1789-1861
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
๒๓๓๒-๒๔๐๔
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
ชาคริต ชุ่มวัฒนะ
บรรณานุกรมคำตั้ง
-
แหล่งอ้างอิง
หนังสือ สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่ : ยุโรป เล่ม ๕ อักษร L-O ฉบับราชบัณฑิตยสถาน กองธรรมศาสตร์และการเมือง 7.O 753-832.pdf